คำแถลงประธาน คสช. 13 มิ.ย.57

Release Date : 18-06-2014 00:00:00
คำแถลงประธาน คสช. 13 มิ.ย.57

“ประยุทธ์” แจงความคืบหน้าการทำงาน มั่นใจดำเนินการได้ตามระยะที่กำหนดหากไม่มีปัญหาแทรกซ้อน ยันมีรัฐบาลใหม่ ก.ย. และตั้งแต่ ต.ค. จะมี ครม. เข้าบริหารประเทศ ย้ำทำงานเน้นโปร่งใส เร่งพิจารณาโครงการใหญ่พร้อมยกเลิกถ้าไม่เหมาะสม

วันนี้ (13 มิ.ย.) เวลา 20.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การดำเนินงานสร้างความปรองดองในระยะที่ 1 ปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่การลดความขัดแย้ง จัดกิจกรรมให้ประชาชนพบปะกัน โดยให้ทุกคนมีโอกาสที่จะรับฟังความเห็นต่าง หรือรับฟังให้ครบถ้วนในทุกแง่มุม เพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดความหวาดระแวง ในเรื่องของการให้ความยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงพอดี จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรม ส่วนสถานการณ์ด้านต่างประเทศ ปัจจุบันมิตรประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเราก็ได้มีท่าทีที่ดีขึ้น เข้าใจถึงสถานการณ์ในประเทศไทยได้มากขึ้น
       
       ส่วนของการเดินหน้าเพื่อการปฏิรูประยะที่ 1 มีความคืบหน้าไปมาก แล้วคาดหวังว่าระยะที่ 2 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าไม่มีปัญหาแทรกซ้อนใดๆ ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ก็น่าจะเดินไปได้อย่างที่ต้องการ
       
       “ส่วนระยะที่ 1 วันนี้เรากำหนดไว้ชัดเจนว่าเราน่าจะมีรัฐบาลในเดือนกันยายน เพื่อจะดำเนินการขับเคลื่อนประเทศต่อไป ในส่วนของสภานิติบัญญัติเช่นเดียวกันคงต้องเกิดขึ้นก่อน พร้อมๆ กับการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว และผมยืนยันว่าตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไปจะเป็นการบริหารประเทศในลักษณะเป็นรัฐบาลที่มี ครม. และจะพยายามจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ใกล้เคียง กับการบริหารราชการในแบบปกติที่ผ่านมาให้ได้มากที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
       
       หัวหน้า คสช. กล่าวอีกว่า บางประเทศที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในครั้งนี้ ตนเคารพในความคิดของทุกประเทศ ไม่ได้ไปตอบโต้ ความสัมพันธ์ยังคงมีอยู่ และยังคงต้องอยู่ต่อไป ในเรื่องของความร่วมมือและบรรยากาศที่ดีทั้งราชการ ภาคเศรษฐกิจ และประชาชน ต้องใช้เวลาให้ประเทศเหล่านั้นได้เข้าใจบริบทของสังคมไทย และผลงานของ คสช. อย่างแท้จริง
       
       ในด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา เน้นเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐบาล หรือ คตร. โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบหารือกำหนดนโยบายต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใส และคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง คือจะต้องใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
       
       ทั้งนี้ ขั้นต้นเราจะตรวจสอบโครงการที่มีรายจ่ายวงเงินเกิน 1 พันล้านบาท ทั้งโครงการที่ยังไม่ดำเนินการและได้อนุมัติไปแล้ว หากโครงการใดไม่เหมาะสมต้องหยุดดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณต้องระมัดระวัง เตรียมการป้องกันการทุจริต โดยคณะกรรมการตรวจสอบนั้นประกอบไปด้วยภาคส่วนอื่นด้วย อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการที่เพิ่มเติมโดย คสช. จัดตั้งขึ้น ตนยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด
       
       พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ได้ให้ความสำคัญลำดับแรกในเรื่องการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากค่าครองชีพ วันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการทั้งหมดที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นพื้นฐานมาร่วมประชุม ซึ่งต้องขอบคุณผู้ประกอบการทั้งหมดที่ให้ความร่วมมืออย่างดี โดยยืนยันว่าจะยังคงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อไปอีก 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือใครก็ตามที่อยากจะช่วย ได้จัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน เช่น วันนี้ได้สั่งการให้กองทัพบกและทุกเหล่าทัพ ทุกหน่วยงาน จัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกจากผู้ผลิตโดยตรงสู่ผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นที่เกษตรกรผู้ผลิตรายย่อย
       
       สำหรับด้านพลังงาน คงไม่ใช่เฉพาะเรื่องราคา แต่ต้องไปคิดต่อว่าจะสามารถจัดหาพลังงานให้เพียงพออย่างไร เช่น พลังงานสำรอง การจัดหาพลังงานภายในประเทศ วันนี้เรายังไม่ก้าวไปถึงการเจาะน้ำมันและผลิตเองทั้งหมด ซึ่งถ้าแบบนั้นเราสามารถจะกำหนดราคาได้เอง แต่วันนี้เราได้ประโยชน์จากพลังงานแหล่งพลังงานในประเทศมาจาก 2 อย่าง คือค่าสัมปทานและภาษีต่างๆ เหมือนกับเรานำเข้าพลังงานเกือบทั้งหมด แต่ถ้ามันไม่ใช่เดี๋ยวคณะกรรมการจะพิจารณาขึ้นมาอีก
       
       เรื่องของรายได้ที่กลับมาบางส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจ ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของภาคธุรกิจบริษัทมหาชน มันต้องแยกกันให้ออกว่า กำไรทั้งหมดมาอย่างไร ซึ่งตนมีแนวคิดอยู่พอสมควร และได้มอบหมายไปแล้ว และคิดว่าคงต้องขอความร่วมมือจาก ปตท. ซึ่งเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนในเรื่องของพลังงานทดแทน
       
       ในเรื่องกองทุนน้ำมัน วันนี้ต้องศึกษาและสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าถ้าลดตรงนี้ ตรงนั้นมันต้องเพิ่มไปตามกลไกท้องตลาด จะรับได้ไหม ถ้ารับไม่ได้จะทำอย่างไร วันนี้กองทุนน้ำมันติดลบประมาณ 7,400 ล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เก็บจะได้ไหม ไม่เก็บแล้วทำอย่างไร ตอนนี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นกำลังศึกษาเพื่อหาทางออกของปัญหานี้
       
       คำต่อคำ : รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” 13 มิถุนายน 2557
       
       สวัสดีครับ เรามาพบอีกครั้งกับ คสช. เพื่อมาบอกถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานในทุกๆ ด้านที่ผ่านมา ดังนั้นความมั่นคงนั้น ในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นมา มีการประกาศกฎอัยการศึก เราได้มีการจับกุมอาวุธปืนสงครามจำนวน 88 กระบอก ปืนเถื่อน ทั้งปืนพก ปืนลูกซอง ปืนผลิตเองจำนวนทั้งสิ้น 1,268 กระบอก กระสุน 7 พันกว่านัด ลูกระเบิด วัตถุระเบิด 300 กว่าลูก และการจับกุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น จะยังคงเร่งดำเนินการต่อไปนะครับ
       
       ในส่วนของการติดตามสืบสวนสอบสวน จับกุมเครือข่ายกองกำลังติดอาวุธต่างๆ นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสงครามมีความคืบหน้าไปมาก ปัจจุบันได้สืบทราบตรวจสอบพบเครือข่าย ทั้งผู้สนับสนุน ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่หลายฝ่ายหลายกลุ่มด้วยกัน ทั้งในส่วนของกลุ่มการเมือง ธุรกิจผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ ในสถานการณ์ปกตินั้นเราทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าเวลานี้ ทั้งหมดนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป ในการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกบางมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการห้ามออกนอกเคหสถาน เราได้มีการประกาศไปแล้วทั้งหมดมีการยกเลิกไป 4 ครั้งนะครับ และประกาศโดยประกาศ คสช.ทั้งหมด 52 54 56 และ 60 ทั้งหมด 30 พื้นที่
       
       ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่เป็นการท่องเที่ยว ผ่อนคลาย บรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน ปัจจุบันยกเลิกไปแล้วจำนวน 25 จังหวัด และขณะนี้กำลังพิจารณาว่า เราสามารถจะยกเลิกได้ทุกพื้นที่หรือไม่ ก็จะดำเนินการให้ได้โดยเร็ว ที่ผ่านมานั้นในส่วนของการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้น เรามุ่งเน้นการใช้กฎหมายปกติเป็นหลัก ในด้านการปราบปราม การกระทำผิดกฎหมาย อาทิเช่น การปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด ขบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการบูรณาการหน่วยงานความมั่นคง ทั้งตำรวจ ป.ป.ส. สายงาน กอ.รมน. และภาคอื่นๆ รวมทั้งภาคประชาชนนั้น ร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
       
       อย่างไรก็ตาม กฎหมายปกตินั้นเราจะพยายามใช้ให้มากที่สุด และใช้กฎอัยการศึกเท่าที่จำเป็น ขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะเราทุกคนนั้นต้องเคารพกฎหมาย และกติกาของสังคม กฎหมายมีไว้ทำให้สังคมนั้นอยู่ร่วมกันได้ เราจึงไม่ใช้กฎหมายมาสร้างความขัดแย้งนะครับ
       
       ความคืบหน้าผลของการสร้างความเข้าใจให้กับบุคคลที่มีความเห็นต่าง หรือขัดแย้งในสังคมที่ผ่านมาในอดีต การเรียกบุคคลมารายงานตัว ได้รับความร่วมมือจากบุคคลเหล่านั้นอย่างดียิ่ง และพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนงาน รักษาความเรียบร้อย ความปรองดองสมานฉันท์เป็นอย่างดี
       
       นอกจากนั้น กิจกรรมในการส่งเสริมความปรองดองของมวลชน ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 52 จังหวัด มียอดคนเข้าร่วมหลายแสนคน ในจำนวน 319 หมู่บ้าน ในชั้นต้น ได้มีการพบปะพูดคุยกันอย่างอิสระ ปราศจากการชี้นำ ทั้งนี้เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน
       
       สำหรับการดำเนินงานในการสร้างความปรองดองในระยะที่ 1 ปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่การลดความขัดแย้ง จัดกิจกรรม ให้ประชาชนเข้ามาพบปะกัน โดยให้ทุกคนมีโอกาสที่จะรับฟังความเห็นต่าง หรือรับฟังให้ครบถ้วนในทุกแง่มุม ที่ผ่านมานั้นจะฟังแต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดความหวาดระแวง ในเรื่องของการให้ความยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย แต่เพียงพอดี จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรม ซึ่งประกอบไปด้วย ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน
       
       สถานการณ์ด้านต่างประเทศ ปัจจุบันนั้นมิตรประเทศต่างๆที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเรามาโดยตลอด ก็ได้มีท่าทีที่ดีขึ้น เข้าใจถึงสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศไทยได้มากขึ้น
       
       ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐยังคงดำเนินการไปตามปกติ มีการแลกเปลี่ยนติดต่อราชการระหว่างประเทศในแต่ละกระทรวง อาทิเช่น การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของกระทรวงกลาโหม ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน การเยือนประเทศออสเตรเลียของข้าราชการกระทรวงยุติธรรมตามแผนงานเดิม กลุ่มนักธุรกิจประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่เราได้เชิญมาพบแล้วก็มีความเข้าใจมากขึ้น และมีแผนเชิญผู้ประกอบการของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรปมาเพิ่มเติบในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพื่อให้ทุกคนมีความเชื่อมั่น และยังคงลงทุนในประเทศไทยดังเดิม หรือขยายความร่วมมือมากขึ้นในอนาคต
       
       อย่างไรก็ตาม เราคงดำเนินการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยกับประเทศต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในเวทีต่างประเทศ ในทุกภาคส่วน ทั้งทางด้านการทูต ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ทั้งภาคราชการและเอกชนอย่างต่อเนื่อง
       
       เมื่อวานนี้ที่ผ่านมาเราได้พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตไทย และกงสุลใหญ่ประจำต่างประเทศของไทยจำนวน 23 ท่าน มอบหมายให้แต่ละประเทศได้ไปสร้างความเข้าใจ และเอาข้อมูลข้อเท็จจริง และความจำเป็นในการเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. ในครั้งนี้ ตลอดจนชี้แจงแนวทางการดำเนินงานการเตรียมการด้านการปฏิรูป นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศที่เรายังคงดำรงไว้เช่นเดิม และส่งเสริมให้มากยิ่งขึ้น เน้นในเรื่องของการค้าเสรี การดูแลผลประโยชน์ของมิตรประเทศทุกประเทศในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อจะเผยแพร่ให้มิตรประเทศได้รับทราบ
       
       ในส่วนของการเดินหน้าเพื่อการปฏิรูปปัจจุบบันระยะที่ 1 โดย 3 เดือนแรกของเรามีความคืบหน้าไปมาก เราก็คาดหวังว่า ระยะที่ 2 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าไม่มีปัญหาแทรกซ้อนใดๆ ทั้งระยะที่ 1, 2 มันก็น่าจะเดินไปได้อย่างที่เราต้องการที่เตรียมการไว้ ส่วนระยะที่ 1 วันนี้เรากำหนดไว้ชัดเจนว่าเราน่าจะมีรัฐบาลในเดือนกันยายน เพื่อจะดำเนินการขับเคลื่อนประเทศต่อไป ในส่วนของสภานิติบัญญัติเช่นเดียวกันคงต้องเกิดขึ้นมาก่อนนะครับ พร้อมๆ กับการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว เมื่อหลังเดือนกันยายนไปแล้ว ก็คือตุลาคมนะครับ ที่ผมย้ำเดือนเพราะว่า มีคำถามมาตลอดเมื่อไร อย่างไร ผมก็เลยเกรงว่า เราจะใช้ปฏิทินคนละฉบับ วันนี้น่าจะใช้ฉบับเดียวกันแล้ว ผมยืนยันกับท่านว่า ตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป มันคงจะเป็นการบริหารประเทศ ในลักษณะเป็นรัฐบาลที่มี ครม. และพยายามจะขับเคลื่อนไปในทางที่ใกล้เคียง กับการบริหารราชการในแบบปกติที่ผ่านมาให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันแผนต่างๆ การดำเนินการต่างๆ ยังคงเป็นไปตามที่วางแผนไว้ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป
       
       ทั้งนี้ เพราะอะไรครับ ก็เพราะประชาชนให้ความร่วมมือกับพวกเราเป็นอย่างดียิ่ง เป็นกำลังใจให้เราเสมอมา เพราะว่าบางประเทศที่มีท่าทีที่ยังไม่เห็นชอบ หรือไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ผมเองและ คสช.นั้น เคารพในความคิดของทุกประเทศ ไม่ได้ไปตอบโต้ประเทศเหล่านั้น ความสัมพันธ์เหล่านั้นยังคงมีอยู่ และยังคงต้องอยู่ต่อไป ในเรื่องของความร่วมมือและบรรยากาศที่ดีทั้งราชการ ภาคเศรษฐกิจ และประชาชน ต้องใช้เวลานะครับให้ประเทศเหล่านั้นได้เข้าใจ ได้ศึกษาความเข้าใจบริบทของสังคมไทย ปัญหาของเราให้เห็นการปฏิบัติงาน และผลงานของ คสช.อย่างแท้จริง
       
       ในด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา เราเน้นเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐบาล หรือ คตร. โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบหารือกำหนดนโยบายต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใส และคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง คือเราจะต้องใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดนะครับ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนโดยรวม ไม่ให้เกิดปัญหาอย่างเช่นที่ผ่านมา โครงการใดที่เราตรวจสอบแล้ว พิจารณาว่าไม่เหมาะสม เราคงต้องหยุดดำเนินการ ขั้นต้นนั้นเราจะตรวจสอบโครงการรายจ่ายวงเงินเกิน 1 พันล้านบาท และพิจารณาถึงงานต่างๆ ที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการต่อไป หรือไม่อย่างไร ในการตรวจสอบนั้น จะตรวจสอบทั้งโครงการที่ยังไม่ดำเนินการ และโครงการได้อนุมัติดำเนินการไปแล้วด้วย เพื่อให้คลายความวิตกกังวล ความสงสัยของประชาชนอย่างเช่นที่ผ่านมา
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ จะต้องมีการระมัดระวังเตรียมการป้องกันในการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะกล่าวว่าใครทุจริต หรือคอร์รัปชันมันต้องมีการพิสูจน์ยืนยัน มีหลักฐานให้ชัดเจน โดยหน่วยงานเจ้าของงบประมาณจะต้องยืนยัน และหากเราเร่งอนุมัติจำหน่าย หรือสั่งจ่ายไปในวันนี้ โดยไม่ได้ทำการตรวจสอบ มันอาจจะเกิดการทุจริต ในขั้นตอนการจัดทำความต้องการ ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจากผลกระทบที่มีต่อรัฐจะมีมากมายนะครับ คณะกรรมการดังกล่าวของเราประกอบไปด้วยภาคส่วนอื่นด้วย อาทิเช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการที่เพิ่มเติมโดย คสช.จัดตั้งขึ้น ผมยืนยันว่า เราจะทำให้ดีที่สุดนะครับ
       
       สำหรับการรายงานเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ของ คสช. นั้น เราได้สรุปรวบมาจากทางสำนักงานพัฒนาคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แจ้งว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยโดยรวม ในเดือนพฤษภาคมปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 60.7 จากเดิม 57.7 ในเดือนเมษายน
       ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศของเราเอง วันนี้มีการผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคซึ่งมีความกังวลทางการเมือง ความขัดแย้ง มีความกังวลลดลง ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งขึ้น นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และตราสารหนี้มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติมเป็นจำนวน 8 พันล้านบาท และ 9 พันล้านบาทตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนต่างๆ และในแนวทางการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของ คสช. ในภาพรวมเป็นอย่างดีนะครับ
       
       ในภาคการท่องเที่ยวนั้น ปัจจุบันถึงแม้ว่าที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง ผมไม่อยากให้ย้อนกลับไปเมื่อไตรมาสที่แล้ว ปีที่แล้วอะไร วันนี้มันต้องย้อนกลับไปก่อน 22 พฤษภาฯ ว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร ไม่งั้นมันเปรียบเทียบกันไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้ตั้งแต่สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมานั้น จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดลงตามลำดับ จากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว วันนี้ได้ปรับตัวในภาวะที่ดีขึ้น ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าปกตินะครับ เนื่องจากมีการผ่อนคลาย มีความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้มากขึ้น วันนี้เราได้หารือกับทุกส่วนราชการได้ช่วยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ช่วยกันเชิญชวนทุกประเทศ ผ่านทุกช่องทาง ไปยังทุกประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้า ประเทศคู่ค้า ประกอบกิจการร่วมกับไทย ได้ช่วยกันชี้แจงเชิญชวนให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น โดยเรามีข้อสังเกตว่า หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวได้มีมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งคงจะสรุปให้ทราบต่อไป
       
       การจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวนา วันนี้ก็ก้าวหน้าไปมาก จ่ายเงินไปจำนวนทั้งสิ้น 6 แสนกว่ารายนะครับ จำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณเกือบ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 เพราะฉะนั้นคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จให้ทัน ภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ตามที่กำหนดไว้เดิม สำหรับการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือในฤดูกาลหน้า เราได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบาย และบริหารจัดการข้าวจะเร่งรัดทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ คสช. ได้ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรทราบมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในรายละเอียดของมาตรการต่างๆ นั้น วันนี้กำลังอยู่ในขั้นการพิจารณา เพื่อตกลงใจและสั่งการนะครับ ซึ่งคงจะต้องครอบคลุมไปถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ด้วย ในเรื่องของแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศเรานั้น เรามีปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด วันนี้ก็ได้มีการประชุมทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการจัดการบริหารน้ำ ก็คงไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งนะครับ เป็นเรื่องของการเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย แผนที่ 11 มาดูว่า โดยเฉพาะในเรื่องน้ำมีการดำเนินการมาอย่างไร และพิจารณาแล้วว่ามีปัญหาในเรื่องความเป็นเอกภาพ การบูรณาการ แผนงานงบประมาณของทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำ ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรก็กำลังทำอยู่นะครับ
       
       เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเราทำได้อย่างนี้ในระยะแรกคือปี 2557 นี้ เริ่มต้นได้ก่อน มันก็จะบูรณาการไปยังแผนใหญ่ในอนาคตได้ อันนี้ผมเรียนว่าคงไม่ใช่เรื่องน้ำอย่างเดียวนะครับ เพราะแผนที่ 11 กำหนดไว้หลายด้านเช่นกัน
       
       ถ้าเราสามารถเริ่มต้นได้ในปี 2557 นั้น ต่อไปเราก็จะดำเนินการให้เป็นทั้งแผนงานเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่มีความเดือดร้อนของประชาชน และต่อมาในระยะกลาง ระยะยาว คือต้องตอบคำถามได้ว่า 10 ปี เราจะแก้ปัญหาน้ำกันอย่างไร ทุก 5 ปี มันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะย้อนกลับมาว่า แต่ละปีเราจะทำอย่างไร เราจะใช้งบประมาณตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณงบรายจ่ายประจำปี หรืองบลงทุนร่วม ภาครัฐภาคเอกชน หรือจะใช้งบประมาณจากที่ใดก็ตาม มันต้องมีการขับเคลื่อนเริ่มต้นจากวันนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาแผนที่ 11 ให้ได้โดยเร็ว การบรรเทาความเดือดร้อนจากค่าครองชีพของประชาชน อันนี้เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกนะครับ
       
       วันนี้ได้เชิญผู้ประกอบการโดยกระทรวงพาณิชย์ให้เชิญผู้ประกอบการทั้งหมดเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นพื้นฐานในการบริโภคจำนวนประมาณ 205 รายการ มาร่วมประชุม ทั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ประกอบการทั้งหมดให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง โดยยืนยันว่าจะยังคงราคาสินค้าไว้ที่จำเป็นดังกล่าวที่ราคาเดิมต่อไปอีก 6 เดือน ข้างหน้า ต้องขอบคุณอีกครั้งนะครับ
       
       ทุกส่วนช่วยกันแก้ปัญหาการผูกขาด การเอาเปรียบนายทุน การลดต้นทุนภาคขนส่ง และการส่งเสริมการตลาด จะต้องช่วยกันในทุกๆ ด้าน นอกจากนั้น ยังมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือใครก็ตามที่อยากจะช่วยเรา ที่มีขีดความสามารถในการบรรเทาความเดือดร้อน ปัญหาค่าครองชีพ ได้จัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน อาทิเช่น วันนี้ได้ให้กองทัพบก และทุกเหล่าทัพ และทุกหน่วยงาน ที่มีขีดความสามารถ จากการจำหน่ายสินค้าราคาถูก โดยจากสู่ผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการดูแลเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยสั่งการให้กระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ จัดทำแผนงานเรื่องมาตรการในการเพิ่มมูลค่า ผลผลิตทางการเกษตร ผลไม้ ให้มีราคาสูง เพื่อเกษตรกร ประชาชนจะได้ผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
       
       ในเรื่องของโรงเรียนก็ต้องเน้นย้ำให้มีคุณภาพ มีความโปร่งใส เพื่อให้นักเรียนทั้งประเทศเราได้รับประทานได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการแก้ปัญหาให้กับสหกรณ์โคนมอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย
       
       ในเรื่องของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ผมเรียนไปแล้วว่ามีปัญหามากมาย มีแรงงานต่างด้าวอยู่จำนวนประมาณ 900,000 คน ที่ยังไม่ได้อยู่ในการควบคุมอย่างชัดเจน เราได้กำหนดไปแล้ว โดยให้หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง คือท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบในการเชิญหน่วยนงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการในรูปแบบของคณะกรรมการ บริหารในภาพรวม เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ดำเนินการให้เร็วที่สุด ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ขออนุญาต ตัวเลขประมาณ 90,000 ราย ไม่ใช่ 900,000 เดี๋ยวจะตกใจกัน
       
       สิ่งที่เป็นปัญหาทางนี้ก็คือการควบคุมแรงงานทั้งเช้าไปเย็นกลับ ตามฤดูกาลและในส่วนของรายปี ปัญหาก็คือการรอพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งเราจำเป็นจะต้องตั้งศุนย์พิสูจน์สัญชาติของเราให้ได้โดยเร็ว ตั้งข้างเดียวคงไม่ได้ ต้องขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ว่าต้นทางมาอย่างไร ปลายทางจะส่งกลับไปอย่างไร มีการจัดศูนย์การส่งแรงงานกันหรือเปล่า อันนี้ต้องคุยกันใช้เวลาพอสมควร ผมคิดว่าจะเร่งให้เสร็จโดยเร็วภายในระยะเวลา 1 ปี ในเรื่องของการกำหนดแนวทางพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ผมขออนุญาตกราบเรียนว่าที่เรามุ่งเน้นไม่ใช่เฉพาะช่องทางเข้า-ออกเท่านั้น เราเน้นไปสู่ชนบทด้วย เพราะเราได้เคยเสนอมาทุกรัฐบาลแล้ว ในเรื่องของการทำยังไงจะไม่มีคนเข้ามาในพื้นที่ตอนใน ไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย อาชญากรรม ยาเสพติดต่างๆ อะไรก็แล้วแต่
       
       เพราะฉะนั้นถ้าเรากันคนเหล่านี้ได้ตามแนวชายแดน ให้เขาสามารถที่จะมีรายได้ของเขาเช้ามาเย็นกลับได้จากเพื่อนบ้าน คนของเรามีงานทำเพื่อให้คนในครอบครัวมีรายจ่ายประจำวันได้ ผมว่ามันจะลดปัญหาไปได้เยอะ โดยประการสำคัญในเรื่องของการสวมสิทธิ์ผลิตผลทางการเกษตรที่คุณภาพอาจต่ำกว่าเรา ซึ่งเป็นปัญหามาโดยตลอด ถ้าเราสามารถทำได้แนวคิดนะครับ เป็นแนวพิจารณาในครั้งนี้ ซึ่งมอบไปแล้วว่า เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะสร้างระบบสหกรณ์ของภาคประชาชนให้เข้มแข็งตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมมติว่าเข้มแข็งได้ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นก็จะมีการซื้อขาย โดยมีข้อยกเว้นด้วยภาษี ด้วยกฎหมายบางประการ คำว่าเศรษฐกิจพิเศษของผม คือว่า ถ้าทุกคนยังถือกฎหมายคนละฉบับมันทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น และของเหล่านี้มันก็รั่วไหล มันก็เป็นบ่อเกิดของการทุจริต ผิดกฎหมายอะไรสารพัด ถ้าเราทำให้มันถูกต้อง มีการยกเว้นได้บ้าง อันนี้เป็นเพียงการพิจารณานะครับ ถ้าเป็นไปได้มันก็บรรเทาการลักลอบเข้ามาสวมสิทธิในประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป และการที่เอาเข้ามาตรงนี้ไม่ใช่เข้ามาแล้วมาขายในประเทศเราคงไม่ใช่ ก็เข้ามารวบรวมไว้มีการบริหารจัดการโดยท้องถิ่นโดยอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ แล้วเราก็ปรับปรุงคุณภาพให้มันดีขึ้นจากคุณภาพต่ำก็ให้มันดีขึ้นๆ เราก็ไม่ขายในประเทสศ เราอาจไปส่งขายในประเทศอื่นๆ มันก็จะทำให้การสวมสิทธิ์ของเราลดลงโดยอัตโนมัตินะครับ
       
       ปัญหาโครงสร้างพลังงานอยากจะเรียนชี้แจงว่า บางครั้งจากคำถามของพี่น้องประชาชน ผมเข้าใจว่า ท่านก็เดือดร้อน ท่านมีความเป็นห่วงในเรื่องของความโปร่งใสผลประโยชน์ของชาติอะไรก็แล้วแต่ วันนี้ผมคิดว่าข้อมูลไม่ค่อยตรงกัน มันอาจจะเป็นคำอธิบายที่ยากเกินไป วันนี้ผมได้กำหนดแนวทางไปแล้วว่า ทุกคนจะต้องสื่อสารให้ถึงประชาชนโดยรวมให้ได้ โดยการใช้ภาษาที่ไม่ใช้ภาษาราชการมากนัก เอาคำถามของประชาชนที่สงสัยมาเป็นโจทย์ และให้ข้าราชการทุกส่วนทุกภาคต้องตอบเป็นภาษาง่ายๆ คือ ไม่ใช่ภาษาราชการโดยฟังไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นประชาชนขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี ข้อมูลก็ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนกระบวนความ มันเลยเกิดเรื่องความขัดแย้งมาโดยตลอด
       
              ขอย้ำอีกครั้งละกัน ถามได้ตลอดนะครับ มีอะไรก็ถามมา แต่ถ้ามันไปแล้วไม่รู้เรื่อง พูดไม่เข้าใจก็ถามมา บางคนไม่รู้จะถามที่ไหนก็ถามที่ คสช. ถามที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บางทีทุกคนจะถามผมคนเดียว ผมก็แหมมันก็ตอบไม่ได้ทุกคนนะ ทุกคำถาม อยากจะตอบทุกคนจริงๆ แล้ววันหนึ่งคำถามมันเป็นร้อยเป็นพันเหมือนกัน ผมก็ตอบลำบาก เพราะฉะนั้นไปถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและโดยตรง ทุกสถานการณ์ถ้าเขาตอบคำถามท่านได้ ก็ไปถามเขาโดยตรง ถ้าทุกคนมุ่งมาที่ คสช.อย่างเดียวมันก็เดินทำงานลำบากนะ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ