สรุปประมวลท่าทีสื่อต่างประเทศต่อประเทศไทย ประจำวันที่ ๔ ก.ค. ๒๕๖๖

Release Date : 04-07-2023 00:00:00
สรุปประมวลท่าทีสื่อต่างประเทศต่อประเทศไทย ประจำวันที่ ๔ ก.ค. ๒๕๖๖

สรุปประมวลท่าทีสื่อต่างประเทศต่อประเทศไทย ประจำวันที่ ๔ ก.ค. ๒๕๖๖ โดยกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ดังนี้ ๑. Bloomberg/Yahoo News (สหรัฐฯ) / Reuters (สหราชอาณาจักร) / BNN Bloomberg (แคนาดา) / Nikkei Asia/Japan Times (ญี่ปุ่น) / AFP/France24 (ฝรั่งเศส) - เมื่อ ๓ ก.ค. ๒๕๖๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา โดยมี ส.ส. ชุดใหม่เข้ารายงานตัว เตรียมเลือกประธานสภาในวันถัดไป ทั้งนี้ มีความคาดหวังว่า การแต่งตั้ง นรม.ไทยจะยุติความชะงักงันทางการเมือง การผันผวนในตลาด และการถอนทุนต่างประเทศ ๒. CNA (สิงคโปร์) / Xinhua (จีน) / Anadolu Agency (ทูร์เคีย) - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา ขอให้ ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและ ปชช. และระลึกไว้เสมอว่า เป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก ปชช. ให้มาเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ดำเนินการปกครอง และพิจารณาออกกฎหมาย บริหารราชการแผ่นดิน ๓. CNA (สิงคโปร์) – การลงคะแนนเสียงเลือกประธานสภามีความสำคัญเนื่องจากเป็นผู้กำหนดวาระหารือและการออกกฎหมาย แต่พรรคก้าวไกลไม่สำเร็จในการเจรจากับพรรคเพื่อไทยที่ต้องการครองตำแหน่งนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ในที่สุด สามารถเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนี้ได้เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้กองทัพเข้ามามีบทบาท ๔. Reuters (สหราชอาณาจักร) / The Straits Times/CNA (สิงคโปร์) – เมื่อค่ำวันที่ ๓ ก.ค. ๒๕๖๖ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ชิงตำแหน่งประธานสภา ซึ่งจะเป็นผู้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงคะแนนเสียงเลือก นรม. ต่อไป แต่หาก นายพิธาฯ รวบรวมคะแนนเสียงจาก ส.ว. ไม่พอ อาจเปิดทางให้พรรคอันดับสอง (พท.) หรือ พปชร. เสนอชื่อ นรม. แทน ๕. AP/Fox News/La Prensa Latina (สหรัฐฯ) / The Independent (สหราชอาณาจักร) – แม้ไทยจัดการเลือกตั้งมาเกือบสองเดือนและเปิดประชุมสภาแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซี่งได้คะแนนเสียงมากที่สุด จะสามารถดำรงตำแหน่ง นรม.ได้หรือไม่ และยุติการปกครองโดยกองทัพ เนื่องจากยังต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อีกทั้ง คสพ.กับพรรคเพื่อไทยก็มีความตึงเครียดจากการเจรจาเรื่องตำแหน่งประธานสภา ๖. VOA (สหรัฐฯ) – ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญเพื่อตัดสินว่า พรรคก้าวไกล ผู้ชนะการเลือกตั้ง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้หรือไม่ และว่า ไทยจะต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองใหม่อีกครั้งหรือไม่ เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีนโยบายปรับโครงสร้างทั้งทางการเมือง ศก. และปฏิรูป ม.๑๑๒ ซึ่งกลุ่มอำนาจเดิมรับไม่ได้ ๗. Bloomberg (สหรัฐฯ) / BNN Bloomberg (แคนาดา) - ธปท.กำลังเตรียมแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เนื่องจากอัตราหนี้ครัวเรือนของไทยเป็นที่น่าห่วงกังวล และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของบรรดา ศก.เอเชีย ธปท.ตั้งเป้าหมายที่จะลดหนี้ครัวเรือนให้เหลือร้อยละ ๘๐ ของ GDP จากประมาณร้อยละ ๙๐.๖ ของ GDP ในปัจจุบัน และวางแผนจะเปิดตัวแนวทางใหม่ภายในเดือน ก.ค. ๒๕๖๖ ๘. Nikkei Asia (ญี่ปุ่น) – บมจ.การบินไทยวางแผนจะขยายจำนวนเครื่องบินเป็นสองเท่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินระหว่างประเทศรายอื่น ๆ และจะให้ความสำคัญกับตลาดอินเดียเพิ่มมากขึ้น ๙. The Phnom Penh Post (กัมพูชา) – ในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๖๖ กัมพูชานำเข้าสินค้าจากจีน เวียดนาม และไทย เป็นมูลค่ารวมกว่า ๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ ๗๑.๘๑ ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด